เบาหวาน ในทัศนะแพทย์แผนจีน

เบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ได้น้อยหรือไม่ได้เลย ผลก็คือ น้ำตาลไม่สามารถเผาผลาญไปใช้เป็นพลังงาน มีการคั่งค้างของน้ำตาลในเลือดและอวัยวะต่างๆ น้ำตาลที่คั่งอยู่ในเลือดมากๆ ก็จะถูกกรองที่ไต มาพร้อมปัสสาวะ ดูดกลับไม่หมด ทำให้ปัสสาวะมีรสหวาน มีมดขึ้น เรียกว่าเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวาน มีปัสสาวะบ่อยและมาก เนื่องจากมีน้ำตาลออกมาพร้อมปัสสาวะ (ไตดูดกลับไม่หมด) ทำให้ผู้ป่วยเสียน้ำมาก กระหายน้ำ และเนื่องจากร่างกายขาดพลังงาน (เพราะขาดอินซูลินที่จะสลายน้ำตาลเป็นพลังงาน) ทำให้ผู้ป่วยหิวเก่ง ขณะเดียวกันก็จะซูบผอม เพราะร่างกายจะสลายไขมันและกล้ามเนื้อไปเป็นพลังงานแทน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีการบันทึกในตำราแพทย์จีนมาช้านาน เรียกเป็นภาษาจีน ว่า เซียวเข่อ คำว่า เซียว หมายถึง สูญเสีย หรือสลายอาหาร สูญเสียน้ำและสูญเสียพลัง (ร่างกายซูบผอม) คำว่า เข่อ หมายถึง กระหายน้ำ ดื่มมาก ดื่มแล้วไม่หายกระหาย รวมความแล้ว โรคเซียวเข่อ หมายถึง ดื่มมาก กินมาก ปัสสาวะมาก ซูบผอม และปัสสาวะมีรสหวาน เนื่องจากอาการดื่มมาก เป็นอาการที่อยู่ส่วนบนเกี่ยวข้องกับปอด ซางเจียว ช่องไฟธาตุส่วนบน อาการกินมากเป็นอาการที่อยู่ส่วนกลางเกี่ยวข้องกับม้าม จงเจียว ช่องไฟธาตุส่วนกลาง และอาการปัสสาวะบ่อยเกี่ยวข้องกับไต เซี่ยเจียว ช่องไฟธาตุส่วนล่าง ผู้ป่วยในแต่ละรายมีความรุนแรงของโรคในแต่ละอวัยวะไม่เหมือนกัน

สาเหตุของเบาหวานในทรรศนะแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีนต่างกันหรือไม่

ในทรรศนะแพทย์แผนปัจจุบัน

  • เบาหวานพบได้ประมาณร้อยละ ๓.๕ ของคนทั่วไป พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในคนอายุหลัง ๔๕ ปีขึ้นไป
  • คนอ้วนและหญิงมีลูกดก มีโอกาสเป็นโรคนี้มาก
  • เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม มักมีพ่อแม่พี่น้องที่เป็นโรคนี้
  • คนอ้วนหรือกินหวานมากๆ จนอ้วน มีโอกาสเป็นเบาหวานได้ง่าย
  • การกินยาคุมกำเนิด ยาจำพวกสตีรอยด์ ทำให้เป็นโรคนี้ได้
  • นอกจากนี้ยังเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบจากการดื่มเหล้า มะเร็งตับอ่อน อุบัติเหตุทำให้ตับอ่อนได้รับบาดเจ็บ

สรุป เป็นผลจากกรรมพันธุ์ และภาวะต่างๆ ที่ทำให้การทำงานของตับอ่อนผลิตอินซูลินลดน้อยลง หรือไม่สามารถผลิตอินซูลินได้

ในทรรศนะแพทย์แผนจีน

สาเหตุสำคัญ คือ ภาวะร่างกายพื้นฐานมีภาวะยินพร่อง มีปัจจัยร่วม ได้แก่ 

  • การดื่ม การกินไม่ถูกหลัก
  • จิต อารมณ์ขาดสมดุล
  • เพศสัมพันธ์มากเกินไป

พื้นฐานร่างกาย “ยินพร่อง” อาจเกิดจากพันธุกรรม (ทุนเดิมแต่กำเนิด) ไม่สมบูรณ์ หรืออาจเกิดภายหลังจากการขาดการหล่อเลี้ยงของสารยินในร่างกาย

  •  การดื่ม การกินไม่ถูกหลัก ทำให้เกิดการสะสมความร้อน สูญเสียสารน้ำ สาเหตุหลักเกิดจากการกินอาหารหวาน อาหารไขมันเป็นเวลานาน รวมทั้งการดื่มสุรา ทำให้กระเพาะอาหารและม้ามทำงานผิดปกติ เกิดความร้อนสะสม เกิดความแห้ง สารน้ำในร่างกายถูกทำลาย
     
  • จิต อารมณ์ขาดสมดุล ความอุดกั้นทางอารมณ์ทำให้เกิดไฟ ทำให้เกิดการทำลายยิน การที่จิต อารมณ์ได้รับการกระตุ้นยาวนาน ทำให้กลไกพลังผิดปกติ พลังถูกปิดกั้น ไม่กระจายตัวตามปกติ นำไปสู่ไฟที่สะสมในร่างกาย เกิดไฟร้อนของระบบปอดและกระเพาะอาหาร ทำให้สูญเสียยินและสารน้ำ
     
  • เพศสัมพันธ์ที่มากเกินควร เกิดการสูญเสียจิงของไต และทำให้ไตพร่อง

แพทย์แผนจีนถือว่า การมีเพศสัมพันธ์ที่มากเกินควร ทำให้สูญเสียยินและจิง เมื่อร่างกายขาดยินจะเกิดไฟจากภาวะพร่อง ทำให้เสียยินกระทบถึงปอดและกระเพาะอาหาร เกิดไตพร่อง ปอดแห้ง และกระเพาะอาหารร้อน ซึ่งเป็นอาการของเบาหวาน

การแบ่งชนิดเบาหวานตามแพทย์แผนจีน และการดำเนินของโรคเป็นอย่างไร

  • ภาวะยินพร่อง เป็นเนื้อแท้ของโรค
  • ภาวะแห้งร้อน เป็นปรากฏการณ์อาการที่แสดงออก
  • เซียวเข่อ แบ่งเป็นส่วนบน (ปอดแห้ง) ส่วนกลาง (กระเพาะอาหารร้อน) ส่วนล่าง (ไตพร่อง) มีอาการหนักเบาของส่วนทั้ง ๓ ต่างกัน
  • ถ้าอาการดื่มมากเป็นอาการหลัก กินมาก ปัสสาวะมากเป็นอาการรอง เรียกว่า ซ่างเซียว
  • ถ้าอาการกินมากเป็นอาการหลัก ดื่มมาก ปัสสาวะมากเป็นอาการรอง เรียกว่า จงเซียว
  • ถ้าอาการปัสสาวะมากเป็นอาการหลัก ดื่มมาก กินมากเป็นอาการรอง เรียกว่า เซี่ยเซียว 
  • อาการระยะแรกมีลักษณะแห้งร้อน ระยะต่อมาของโรคของยินพร่องร่วมกับแห้งร้อน ระยะสุดท้ายของโรค คือ ยินพร่องเป็นหลัก แล้วทำให้หยางพร่องร่วมด้วย

ตามหลักแพทย์แผนจีน เบาหวานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปอด กระเพาะอาหารและไตอย่างไร มีอาการอื่นๆ ที่ตามมาอย่างไร

เบาหวาน หรือเซียวเข่อ มีสาเหตุพื้นฐานจากยินพร่อง สารน้ำร่างกายถูกทำลาย ทำให้เกิดความแห้งร้อนของอวัยวะภายในจั้งฝู่ โดยเฉพาะปอด กระเพาะอาหารและไต (สำคัญที่สุด คือ ไต) ตามหลักสรีระของศาสตร์แพทย์แผนจีน ปอดเป็นอัวยวะส่วนบนที่มีหน้าที่ปรับและควบคุมน้ำของร่างกาย ถ้าปอดร้อนและแห้ง น้ำจะถูกส่งผ่านโดยตรงไปที่ไต ทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก ขณะเดียวกันน้ำก็ไม่สามารถกระจายไปส่วนต่างๆ ของร่างกายทำให้คอแห้ง กระหายน้ำ

  • กระเพาะอาหารเป็นทะเลของน้ำและอาหาร (เป็นที่เก็บรวบรวมอาหารและน้ำที่กินเข้าไปสำหรับย่อยสลาย) ถ้ากระเพาะอาหารแห้งและร้อนไฟกระเพาะอาหารจะแกร่ง การย่อยเร็ว หิวเก่ง อุจจาระแห้ง
     
  • ไต มีหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำของร่างกาย และมีหน้าที่เก็บสารจิง ถ้าไตขาดสารยินเกิดไฟจากภาวะพร่อง เกิดความร้อนแห้งของไต ทำให้ไตสูญเสียการดูดน้ำกลับเพื่อส่งไปที่ปอด เกิดปัสสาวะมากและบ่อย มีการไหลออกของสารอาหารทำให้มีปัสสาวะรสหวาน
     
  • ปอดแห้งมีผลต่อการกระจายน้ำไปยังกระเพาะอาหารและไต กระเพาะอาหารแห้งและร้อน มีผลกระทบต่อปอดและไต และไตพร่อง ไตแห้งร้อน ก็มีผลต่อปอดแห้ง และกระเพาะอาหารร้อน
     
  • ไตแห้ง ตับก็แห้ง ตับขาดการหล่อเลี้ยง ไฟตับมาก ทำให้เกิดปัญหาของตา (ตับเปิดทวารที่ตา) เช่น ต้อกระจก ทำให้เกิดปัญหาของหู (ไตเปิดทวารที่หู) เช่น หูหนวก หูมีเสียงดัง